พืชไม้ประดับช่วยฟอกอากาศพิษ
ปลูกในกระถางวางไว้ในอาคารสถานที่ในร่ม บ้านเรือน
ในปัจจุบันนี้เราพบว่าสภาพอากาศมีฝุ่นควันมลพิษเกินปริมาณของความปลอดภัยบ่อยมาก นอกจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือถ้าเที่ยบแบบพอจะเห็นภาพคือเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมราว ๆ25เท่า ซึ่งฝุ่นควัน pm2.5นี้มักเกิดจากการเผาป่า ควันจากท่อไอเสียรถ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตในโรงงานต่างๆ โดยมีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อเราสูดเอาฝุ่นขนาดจิ๋วนี้เข้าไปในปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะอื่นๆทำให้ร่างกายเจ็บป่วย
นอกจากฝุ่น pm2.5 ที่น่ากลัวแล้วเราอาจยังไม่ทันคิดว่าที่จริงยังมีสารพิษอื่นๆที่สะสม ล่องลอยอยู่ในอาคารบ้านเรือนซึ่งอาจจะมีปริมาณมากกว่าข้างนอกอาคารด้วยซ้ำ ดังนั้นนอกจากการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศแล้ว การปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือในร่มภายในตัวอาคาร ก็จะช่วยให้สภาพอากาศดูสะอาดและร่มรื่นขึ้น แล้วเราจะเลือกปลูกต้นไม้ หรือไม้ประดับอะไรดี เราขอแนะนำลองปลูกต้นไม้ที่พบว่ามีการรายงานว่าไม้ประดับเหล่านี้จะช่วยฟอกอากาศได้ดี
ในปี ค.ศ 1989 ได้มีรายงานการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ องค์การนาซ่า (NASA) หรือ องค์การบริการการบินและอวกาศแห่งชาติของอเมริกา ในเรื่อง Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement พืชไม้ประดับปลูกในอาคารเพื่อช่วยฟอกอากาศดูดมลพิษ เนื่องจากพบว่ามีไอระเหยของสารประกอบอินทรีย์อยู่ในเครื่องบิน ในอาคารสถานทีทำงาน ที่อยู่อาศัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยที่เรียกการเจ็บป่วยจากสาเหตุมีมลพิษที่ล่องลอยอยู่ในอาคารว่า Sick building syndrome ซึ่งสารพิษที่พบบ่อยที่สุดและมีโอกาสสัมผัสสารเหล่านี้จนเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยที่สุด คือ Benzene เบนซีน, carbon monoxide คาร์บอนมอนน็อกไซด์, formaldehyde ฟอร์มัลดีไฮด์, trichloroethylene ไตรคลอโรเอธีลีน, xylene ไซลีน เป็นต้น
12 พืชไม้ประดับช่วยฟอกอากาศดูดสารพิษปลูกในกระถาง

พลูด่าง Golden pothos, Davil’s Ivy [ Scindapsus aureus (Epipremnum aureum) ]
เป็นไม้เลื้อยใบเขียวอมเหลืองใบรูปหัวใจปลายแหลมขึ้นได้ดีในดินทุกชนิดหรือแม้แต่ใส่น้ำเปล่าในกระถางอย่างเดียวก็เจริญเติบโตได้ต้องการความชื้นแฉะมีน้ำชุ่มและแสงแดดรำไร
ช่วยดูดซับสารพิษ: xylene, benzene, formaldehyde, trichloroethylene.

ต้น เดหลี Peace Lily (Spathiphyllum)
เป็นไม้พุ่มเตี้ยสูงราว 80 ซม. ใบสีเขียวเข้มเป็นมันร่องลึกเห็นชัดเชนมีดอกออกเป็นใบกว้างคล้ายกาบรูปเชิงเทียนมีปลีช่อดอกสีขาวโผล่ตรงกลางเจริญเติบโตได้ในที่แสงน้อยเพียงแสงหลอดไฟฟ้าในอาคารก็สามารถออกดอกได้ต้องการความชื้นตลอดเวลาแต่ต้องไม่มีน้ำขังแหรือแฉะดังนั้นต้องหมั่นรดน้ำให้ดินชื้นตลอดชอบแสงแดดอ่อนรำไร
ช่วยดูดซับสารพิษ: xylene, benzene, formaldehyde, trichloroethylene.

เศรษฐีเรือนใน Spider Plant (Chlorophytum comosum)
เป็นไม้ล้มลุกเจริญเติบโตแบบเป็นกอแตกกิ่งเป็นก้านยาวห้อยลง ทนต่อสิ่งแวดล้อมชอบดินร่วนซุยชอบแดดอ่อนไม่ชอบแดดและน้ำมากนัก รดน้ำ5-7วันต่อครั้งก็พอ
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde, xylene.

ยางอินเดีย Rubber plants (Ficus elastic)
เป็นต้นไม่ขนาดใหญ่ปลูกในกระถางได้เจริญเติบโตได้ในที่สภาพมีแสงน้อยทนทานไม่ต้องการการรดน้ำมากปลูกได้ทั้งด้านในหรือด้านนอกอาคาร มีลำต้นตรงผิวสีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยวเป็นรูปกลมรีปลายแหลมขอบใบเรียบ มีความหนาแข็ง สีเขียวเข้มมันวาวใบอ่อนมีปลีสีแดง
ช่วยดูดซับสารพิษ: xylene, benzene, formaldehyde, trichloroethylene.

ลิ้นมังกร Snake plant, Mother-in-Law’s Tongue (Sansevieria trifasciata)
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde, trichloroethylene, benzene, xylene.
เป็นไม้กอใบเรียวยาวแหลมบิดเล็กน้อย หนา แผ่นใบเขียวหรือเขียวเทา มีลายเขียวอ่อนบางชนิดมีใบเป็นรอยด่างลายสีเหลืองนวลพาดตามขวาง เป็นพืชโตช้า ทนต่อสภาพอากาศซับน้ำได้ดีชอบอากาศถ่ายเท ชอบดินร่วนซุยผสมแกลบเปลือกมะพร้าวสับจะเจริญเติบโตดีรดน้ำทุก 3 วันก็เพียงพอ

ว่านหางจระเข้ Aloe Vera (Aloe vera or A. barbadensis)
เป็นไม้อวบน้ำใบเลี้ยงเดี่ยวโคนใหญ่หนาอวบ ปลายเรียวแหลมมีลายขีดสีขาวขอบใบจะหยักห่างริบขอบมีหนาม ชอบดินร่วนซุยชุ่มน้ำไม่ขังเพราะจะทำให้รากเน่าต้องการแดดรำไร อย่าวางไว้ในที่แดดจัดเพราะใบจากสีเขียวจะกลายเป็นสีน้ำตาล
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde.

ไอวี่ หรือตีนตุ๊กแกฝรั่ง English ivy (Hedera helix)
เป็นไม้เลื้อยลำต้นเป็นข้อปล้องมีรากงอกตามข้อเพื่อใช้ยึดเกาะตามต้นไม้หรือสิ่งที่สามารถยึดเกาะได้หากไม่มีต้นจะสูงหรือยาวออกประมาณ 5-20 ซม. ใบเลี้ยงเดี่ยวคล้ายใบตำลึงเป็นแฉกประมาณ3-5แฉกในรูปลักษณะขอแต่ละใบที่แตกออกตามข้อลำต้น มีเส้นใบสีขาวพื้นใบสีเขียว
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde, benzene.

ปาล์มไผ่ Bamboo Palm (Chamaedorea seifrizii)
เป็นต้นปาล์มขนาดเล็กแตกหน่อเป็นกอ เจริญเติบโตช้าลำต้นตรง ใบเล็กเขียวเรียวยาว แผ่ออกแบบขนนกเรียงสลับกันออกตรงข้ามเป็นคู่ โคนมีกาบหุ้ม ชอบดินร่วนซุยชอบน้ำแต่ต้องไม่ขังควรระบายน้ำได้ดี รดน้ำทุกวันวันละครั้งจะเจริญเติบโตดี
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde, trichloroethylene, benzene.

ต้นวาสนาราชินี Dracaena Janet Craig
เป็นต้นไม้โตช้าเติบโตได้ดีในสภาพแสงน้อยมีความทนทานต่อความแห้งแล้งมีใบเขียวสดมันวาวเป็นรูปหอกเรียวยาวต้องระวังอย่ารดน้ำแล้วมีน้ำขังต้องระบายน้ำได้ดีชอบแดดรำไรควรหมั่นทำความสะอาดเอาผ้าชุบน้ำเช็ดใบให้สะอาด
ช่วยดูดซับสารพิษ: xylene, benzene, formaldehyde, trichloroethylene.

เขียวหมื่นปี Chinese Evergreen (Aglaonema)
เป็นไม้พุ่มเตี้ย ใบเป็นลักษณะรูปหอกแคบ โคนมนพื้นใบสีเขียวมีลายประสีเทาเงินหรือแดงขาวตามใบ ก้านใบจะยาว จะออกดอกมีจานรองดอกเป็นกาบหุ้มตรงกลางเป็นช่อปลีสีขาว ไม่ชอบแดดจัดต้องการความชุ่มชื้นสูงอากาศถ่ายเท เจริญเติบโตได้ดีในที่แสงน้อยรำไรระวังถ้าให้โดดแดดโดยตรงใบจะไหม้ไม่สวยงาม
ช่วยดูดซับสารพิษ: formaldehyde and xylene.

เยอร์บีร่า Gerbera daisy
เป็นพืชแตกเป็นกอมีใบสีเขียวเข้มขอบหยักเป็นแฉกไม่เท่ากันมีดอกออกเป็นช่อแต่ละดอกมีกลีบใบเล็กๆเรียงซ้อนกันมีหลายชนิดที่ให้สีสันต่างๆเช่นสีแดง ชมพู เหลือง เป็นต้นเจริญเติบโตได้ดีมากในดินที่ร่วนซุย มีความชุ่มชื้นแต่น้ำไม่ขังแฉะ เมื่อดอกบานเต็มที่เริ่มเหี่ยวควรตัดออกทัทีเพื่อป้องกันโรคและให้ออกดอกได้เยอะขึ้น
ช่วยดูดซับสารพิษ: trichloroethylene, benzene.

เบญจมาศ Pot mum (Chrysanthemum morifolium)
เป็นไม้ประดับที่สามารถออกดอกได้แม้จะปลูกภายในอาคารบ้านเรือน มีดอกหลากหลายสี มีใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันรูปใบหอกขอบหยักเว้า สีเขียวมีขนอ่อนๆปกคลุมทั่วใบ มีความต้องการแสงมากดังนั้นหากปลูกในอาคารให้วางไว้ริมระเบียง หน้าต่าง ริมทางเดินที่มีแดดส่องถึง ต้องการความชื้นรดน้ำทุกเช้า และฉีดพ่นละอองน้ำทั่วต้นบ่อยๆจะช่วยให้ออกดอกที่สวยงาม
ช่วยดูดซับสารพิษ: trichloroethylene, benzene.
ไม้ประดับช่วยฟอกอากาศพิษ ทั้ง12 ชนิดที่แนะนำนี้ เมื่อนำไปปลูกใส่ในกระถางสวยงามมีดีไซน์วางไว้ในอาคารบ้านเรือนก็สามารถตกแต่งสถานที่ให้มีความสวยงามร่มรื่น ที่น่าสนใจอย่างมาก หรือใครคิดอยากทำเป็นงานอดิเรก ปลูกไม้ประดับฟอกอากาศเหล่านี้ดูแลไว้แจกเพื่อนๆให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ หรือขยายต้น ใส่กระถางสวยงามไว้แบ่งขายก็น่าจะเป็นไอเดียที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเช่นกันนะคะ
Info: ntrs.nasa.gov
[…] […]