ของขวัญมีอักษรขึ้นต้นด้วยกขคงจฉชขฮ

โอะยูริโมะโนะ วัฒนธรรมญี่ปุ่นการมอบของขวัญ

โอะยูริโมะโนะ วัฒนธรรมญี่ปุ่นการมอบของขวัญให้แก่กันตามโอกาส

วัฒนธรรมการมอบของขวัญ ของชาวญี่ปุ่น( โอะยูริโมะโนะ )สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วมีการส่งของขวัญเพื่อเป็นการฉลองโอกาสต่าง ๆโดยเฉพาะเนื่องในโอกาสช่วงอายุต่างๆ เช่น การฉลองการมีบุตร  / งานฉลองสำหรับ เด็ก ที่อายุครบ 3 ขวบ 5 ขวบ 7 ขวบ / วันเกิด /การเข้าศึกษาต่อ / การจบการศึกษา/ การเข้าทำงาน / การแต่งงาน /การขึ้นบ้านใหม่ / การเลื่อนตำแหน่ง / การฉลองอายุครบ 60 ปี เป็นต้น

คนญี่ปุ่นสมัยก่อนได้พยายามหาวิธีที่จะห่อของขวัญให้ดูสวยงาม จึงได้ให้กำเนิด “วิธีการห่อของขวัญ” ที่งดงามเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามวิธีการเช่นนี้บางครั้งทำให้มีการให้ความสำคัญกับลักษณะภายนอกของห่อของขวัญมากกว่าสิ่งของที่อยู่ภายใน และสำหรับการส่งของขวัญตาม ความหมายดั้งเดิมของการส่งของขวัญคือ การสื่อความรู้สึกไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งในรูปของสิ่งของ เวลาส่งของขวัญนั้นคนญี่ปุ่นจะให้การเอาใจใส่กับการห่อ ทั้งนี้เพราะประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว การไม่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างโจ่งแจ้งถือเป็นความงดงามทางคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการ “ห่อหุ้มความรู้สึก” อย่างมากเลยทีเดียว   แต่การห่อ ที่มากเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ดังนั้นห้างสรรพสินค้าหรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต มักห่อของขวัญ ด้วยกระดาษรีไซเคิล หรือไม่ก็ห่อแบบง่ายๆ นอกจากนั้นการใช้ ผ้าห่อของ ที่เรียกว่า ฟูโระชิกิ แบบดั้งเดิมก็กลับมาได้รับความนิยมอีก เวลาที่จะมอบของขวัญที่ห่อด้วย ผ้าฟูโระชิกิ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั่วไปจะแกะเอาผ้าออกต่อหน้าผู้รับของขวัญก่อนที่จะมอบให้  ส่วนการไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับนั้น มีความเป็นมาจากประเพณีการถวายของแก่เทพเจ้าในสมัยโบราณ โดยเริ่มแรกจะนำของขวัญนั้นถวายแด่เทพเจ้า หลังจากนั้นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นผู้เปิด จากประเพณีนี้จึงถือเป็นมารยาทที่ไม่เปิดของขวัญทันทีที่ได้รับ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเคร่งครัดมากนักแล้ว

ประเพณีการให้ของขวัญในญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ คือ มีการให้ของขวัญตามฤดูกาล กล่าวคือ ในฤดูร้อนกลางปี (OCHUGEN)  เรียกว่า    ”โอะ-ชูเง็น “ และ ในฤดูหนาว ปลายปี (OSEIBO)เรียกว่า “ โอะ-เซโบะ“ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมอบของขวัญให้แก่กัน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นมักมอบของขวัญให้แก่เพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือญาติ นอกจากนี้ ยังมีการให้ของขวัญเมื่อไปเยี่ยมคนรู้จักที่บ้าน และการมอบของขวัญเพื่อขอบคุณในกรณีต่าง  ๆ    ซึ่งแตกต่างจากการให้ของขวัญ เพื่อแสดงความยินดีโดยเป็นการส่งของขวัญเพื่อเป็นการขอบคุณต่อผู้ให้ความช่วยเหลือด้วยดีเสมอมานั่นเองค่ะ ซึ่งคนทั่วไปจะส่งของขวัญให้พ่อแม่หรือ นะโกโดะ คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในงานแต่งงานหรือพ่อสื่อ แม่สื่อ นั่นเอง เจ้านาย ครู แพทย์ประจำครอบครัว ในกรณีของบริษัทส่วนใหญ่จะส่งของขวัญให้กับบริษัทที่ติดต่อค้าขายกันอยู่นั่นเอง

ชาวญี่ปุ่นเรียกการให้ของขวัญปีใหม่ว่า โอะโทะชิตะบะ ส่วน โคเค็น คือการได้สิ่งของหรือเงินเพื่อแสดงความเสียใจในงานศพ ส่วนใหญ่จะให้ของขวัญเป็นเงินสด โดยปกติจะไม่มีการส่งของขวัญตอบแทน ในกรณีของการให้ของขวัญเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา วันเกิดและการเยี่ยมเยืยน การเจ็บป่วย หรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ แต่เป็นมารยาทที่ควรจะต้องส่ง บัตรแสดงความขอบคุณ กลับไป ในยุคเศรษฐกิจแบบประหยัด การให้ของขวัญเป็น เงินสด ดีที่สุด เพราะผู้รับสามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการ  และในประเทศญี่ปุ่น มีการให้ เงินสด เป็นของขวัญในหลายๆ กรณีการแสดงความยินดีในโอกาสของการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษา การจบการศึกษา การบรรลุตินิภาวะ การแต่งงาน การไปเยี่ยมไข้และการไปเยี่ยมเยียนเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งประสบความเดือดร้อนจากไฟไหม้ จะให้ของขวัญเป็นเงินสด เป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่างธรรมเนียมปฏิบัติการมอบของขวัญให้ในกรณีต่างๆของชาวญีปุ่น ดังนี้

การให้ของขวัญตอบแทน ( โอะ – คะเอะชิ )

การให้สิ่งของเพื่อตอบแทนของขวัญที่ได้รับ นับเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการให้ของขวัญในญี่ปุ่น และไม่ต้องกังวลว่าอุตส่าห์มอบของขวัญให้แล้วอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่เข้าใจความปรารถนาดีของผู้ให้ เพราะคนญี่ปุ่นจะแสดงความขอบคุณต่อของขวัญที่ได้รับโดยการมอบของขวัญตอบแทน ที่เรียกว่า โอะ-คะเอะชิ การแสดงความขอบคุณด้วยการส่งบัตรแสดงความขอบคุณนั้นยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ต้องระวังการส่งของขวัญตอบแทนในทันทีจะเป็นการเสียมารยาท ถ้าเป็นกรณีแสดงความยินดีควรส่งภายในรอบสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ได้รับของขวัญค่ะ

การแสดงความเสียใจ

ควรส่งหลังจากประกอบพิธีที่ระลึกถึงผู้ตายเมื่อครบ 49 วัน หรือถ้าไม่ส่งของตอบแทนก็จะจดบันทึกไว้ก็ได้ เมื่อถึงโอกาสที่อีกฝ่ายหนึ่งเกิดกรณีแบบเดียวกันนี้ขึ้นจึงส่งของขวัญไปให้ก็ได้เช่นกัน

การตอบแทนการมอบเงินช่วยในงานศพ

จะไม่มีการส่งบัตรขอบคุณ ทั้งนี้เพื่อมิให้ครอบครัวของผู้ตายรู้สึกเศร้าโศกยิ่งขึ้นและแม้แต่เงินที่ได้รับมอบในงานศพก็ยังมีการให้ของขวัญตอบแทนแต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ระยะหลังๆ มักนำไปบริจาคให้องค์การการกุศลมากขึ้น

การแสดงความยินดีต่อเด็กแรกเกิดและงานฉลองอื่นๆ ภายในครอบครัว

การให้ของขวัญ จะให้ของขวัญตอบแทนเป็น ข้าวแดง (เซะกิซัน) และน้ำตาลสีแดงและขาว เพื่อเป็นการแบ่งปันความปิติยินดี ให้กับผู้ที่ส่งของขวัญมาอวยพร

ในงานเลี้ยงฉลองการแต่งงาน

แขกที่มาร่วมงานจะได้รับของขวัญตอบแทนที่เรียกว่า มิกิเดะโมะโระ

ธรรมเนียมปฏิบัติในการมอบของขวัญให้แก่คู่ค้าทางธุรกิจชาวญี่ปุ่น

ช่วงเวลาที่เหมาะในการมอบของขวัญ คือ ช่วงที่เจรจาการค้ากับชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงให้คู่ค้าเห็นว่าผู้ให้ต้องการสร้างสัมพันธ์อันยาวนานต่อเนื่อง  โดยอาจมอบของขวัญหลังการประชุมร่วมกันเสร็จสิ้นลง ซึ่งการมอบของขวัญควรมีการแจ้งระหว่างการประชุมว่าจะมีการมอบของขวัญให้และข้อระวัง การมอบของขวัญไม่ควรเจาะจงให้เฉพาะแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งในที่ประชุม ยกเว้นกรณีที่ระบุว่าเป็นการมอบให้โดยรวม และหากต้องการมอบของขวัญให้แก่ทุกคนในที่ประชุม  ควรให้ของขวัญแก่ผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าด้วยของที่มีมูลค่ามากกว่า  เนื่องจากของขวัญเป็นสิ่งแสดงถึงฐานะของผู้รับ จึงไม่ควรมอบของขวัญที่เหมือนกันให้แก่ผู้ที่มีตำแหน่งต่างกันนั่นเอง นอกจากนั้นผู้ประกอบการอาจเลือกมอบของขวัญในวาระดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น ที่มีการให้ของขวัญตามฤดูกาลปีละ 2 ครั้ง กล่าวคือ ในฤดูร้อนกลางปี (Ochugen) เรียกว่า    ”โอะ-ชูเง็น “ เริ่ม 1 กรกฎาคม-15 สิงหาคม และ ในฤดูหนาว ปลายปี (Oseibo)เรียกว่า “ โอะ-เซโบะ“  เริ่ม 15 ธันวาคมจนถึงสิ้นปี ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมอบของขวัญให้แก่กัน ผู้มีพระคุณที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล พ่อแม่ ญาติ ปู่ย่าตายาย เพื่อน ครู เพื่อนร่วมงาน ในช่วงดังกล่าวได้เช่นกัน

 สิ่งที่ควรมอบให้เป็นของขวัญ

โดยทั่วไปสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมอบเป็นของขวัญแก่กันไม่จำเป็นต้องมี มูลค่าสูง อาทิ ผลไม้สด  ของใช้ในบ้าน และขนม แต่สำหรับของขวัญที่มอบให้แก่คู่ค้าทางธุรกิจควรมีมูลค่าสูงกว่าของที่มอบให้แก่กันโดยทั่วไป  หรือเป็นของหายากในญี่ปุ่น  อาทิ  สินค้าที่มีตราสินค้าเป็นที่รู้จักดี  และสินค้าหัตถกรรมไทย ทั้งนี้ ของขวัญที่มอบให้ควรมีขนาดเล็ก เนื่องจากที่พักของชาวญี่ปุ่นมีขนาดจำกัด สำหรับสิ่งที่ นิยมให้เป็นของขวัญ คือ ปากกา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และมีขนาดเล็ก รวมถึงอาหาร เพราะไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ในการเก็บรักษา  อย่างไรก็ตาม หากมอบอาหารเป็นของขวัญ ควรเลือกให้ตรงกับรสนิยมของชาวญี่ปุ่นซึ่งแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น อาทิ ชาวโตเกียวนิยมบริโภคอาหารรสเค็ม เผ็ด และชอบบริโภคเนื้อหมู ส่วนชาวโอซาก้านิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม  รสชาติไม่เผ็ดหรือเค็มจัด และชอบบริโภคเนื้อวัว

 

ข้อระวังการให้ของขวัญที่เหมาะสม

-ของขวัญควรบรรจุในกล่องที่ห่ออย่างสวยงามและประณีต

-หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษห่อของขวัญสีขาวเนื่องจากหมายถึงความตาย
-หลีกเลี่ยงในการมอบเป็นของขวัญ  คือ  ของมีคม  เช่น  มีด  กรรไกร  และที่เปิดซองจดหมาย เพราะมีความหมายสื่อถึงการตัดความสัมพันธ์

-ควรยกเว้นของขวัญที่มีจำนวน 4 หรือ 9 เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ชาวญี่ปุ่นถือว่าไม่เป็นมงคล

-ดอกไม้ที่ควรหลีกเลี่ยงในการมอบเป็นของขวัญ คือ ดอกลิลลี่ ดอกบัว ดอกคาเมเลียและดอกไม้สีขาว เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่ใช้ในงานศพ หรือใช้มอบให้แก่ผู้ป่วย

-จำนวนเงินที่มอบให้เป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาวในวันแต่งงานไม่ควรเป็นจำนวนคู่  เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเลขคู่สามารถแบ่งเป็นสองจำนวนได้ ซึ่งอาจสื่อถึงการมีชีวิตสมรสที่แตกแยก
-การมอบของขวัญ  ควรใช้สองมือยื่นของขวัญมอบให้อีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกับการมอบและรับนามบัตร

– ไม่ว่าของขวัญที่มอบให้จะมีมูลค่าสูงเพียงใด ระหว่างการมอบของขวัญควรกล่าวคำพูดในลักษณะที่ว่ามูลค่าของของขวัญมิอาจเทียบได้กับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายข้อความนี้สำคัญมากไม่ควรลืมที่จะพูด
-พึงทราบว่าชาวญี่ปุ่นมักนิยมมอบของขวัญเป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน  เพื่อแสดงความขอบคุณโดยของขวัญที่ให้ตอบแทนมักมีมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของของขวัญที่ได้รับ

– การรับของขวัญควรใช้สองมือรับเช่นเดียวกับการมอบของขวัญ  และไม่ควรแกะของขวัญต่อหน้าผู้ให้เว้น แต่ หากมีความจำเป็นต้องแกะของขวัญทันที ควรแกะอย่างประณีต ไม่ควรฉีกกระดาษห่อของขวัญ

-โดยปกติของฝากของขวัญของคนญี่ปุ่นจะมีการเขียนชื่อผู้ให้ ใส่ลงในกระดาษสีขาวแปะไว้ที่กระดาษห่อของ ตอนที่จะส่งของขวัญที่มีกระดาษเขียนชื่อผู้ให้แปะไว้ให้กับผู้รับ เราจะต้องยื่นของให้ในทิศทางที่ผู้รับสามารถอ่านกระดาษแผ่นนั้นได้ทันที เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆที่สุดห้ามยื่นผิดเป็นอันขาด และไม่เพียงแต่กระดาษที่เขียนชื่อเท่านั้น ถ้าหากมีชื่อร้าน ชื่อผู้ส่ง หรือตัวอักษรอะไรก็ตาม เราก็ต้องหันกล่องให้อยู่ในทิศทางที่ผู้รับสามารถอ่านได้ทันทีเหมือนกันนะคะต้องระมัดระวัง

-ซื้อของแล้วก็ได้ถุงกระดาษจากทางร้านต้องเอาของออกจากถุงก่อนมอบให้ผู้รับเสมอนะคะ การให้ของกับผู้รับทั้งๆที่ของยังอยู่ในถุงถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างหนึ่งค่ะ หลังจากนั้นก็ให้พับถุงกระดาษให้เรียบร้อย แล้วเอาวางไว้ข้างๆตัวเราค่ะตามมารยาทแล้วถุงกระดาษที่ได้มาจากร้าน ผู้ให้จะต้องเป็นคนถือติดตัวเอากลับไปด้วย

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม : lib.ru.ac.th , anngle.org , ryt9.com , modchang.namjai.cc

Add a Comment

You must be logged in to post a comment